กบฏ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 เป็นความพยายามก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้นำกองกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี เข้ายึดสถานที่สำคัญ 4 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์ ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520
โดยเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์หลังการจลาจลและรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ผ่านมาได้ 3 เดือน มีความวิตกกังวลและตรึงเครียดอยู่เสมอ ๆ ว่า อาจจะมีการรัฐประหารซ้อนขึ้นมาจากทหารกลุ่มที่ไม่ใช่ทหารที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น (สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน) จนกระทั่งเกิดขึ้นจริงในเวลาเช้ามืดของวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 เมื่อทหารกลุ่มหนึ่ง ที่นำโดย พล.อ.ฉลาด ซึ่งเป็นอดีตรองผู้บัญชาการทหารบกที่ยังมีอิทธิพลอยู่ในกองทัพ จำนวน 300 นาย จาก กองพันทหารราบที่ 19 พัน 1, 2 และ 3 แต่งเครื่องแบบสนามติดธงไตรรงค์เล็ก ๆ ที่ต้นแขนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ พร้อมอาวุธปืน เคลื่อนกำลังเข้ายึดสถานที่สำคัญต่าง ๆ ดังที่ปรากฏข้างต้น ซึ่งเป็นส่วนบัญชาการในกรุงเทพมหานคร
ต่อมาในเวลาสาย คณะผู้ก่อการที่นำโดย พล.อ.ฉลาด ได้ออกประกาศทางวิทยุกระจายเสียงเป็นแถลงการณ์ อ้างถึงความเสื่อมโทรมด้านต่าง ๆ และอ้างเหตุของการยึดอำนาจ โดยมีใจความว่า
ทั้งนี้เพื่อเป็นแกนกลางของบรรดาผู้รักชาติที่จะร่วมมือกันที่จะแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองให้ดีขึ้น และเพื่อสถาปนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด
โดยอ้างว่า แถลงการณ์ฉบับนี้ลงนามโดย พล.อ.ประเสริฐ ธรรมศิริ รองผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ซึ่งเป็นนายทหารที่บรรดากำลังพลในกองทัพให้ความเคารพนับถืออยู่ ซึ่งในเหตุการณ์นี้ได้มีนักการเมืองที่มีชื่อเสียง 2 คน เข้าร่วมด้วย คือ นายวีระ มุสิกพงศ์ และพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์
จากแถลงการณ์นี้ทำให้ รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลท่านหนึ่งที่อยู่ที่ต่างจังหวัด ถึงกับคิดว่ารัฐบาลถูกยึดอำนาจไปแล้วเรียบร้อย รีบเดินทางกลับกรุงเทพฯ และคืนรถประจำตำแหน่งและกลับบ้านพักของตัวเอง
ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไปราว 1 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้นนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.กมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก ได้รวมตัวกันและออกแถลงการณ์ตอบโต้ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ยืนยันว่า กองกำลังทหารและตำรวจยังยืนอยู่ข้างรัฐบาล และอ้างว่า พล.อ.ประเสริฐ ถูกบังคับให้ลงนามโดยที่ไม่เต็มใจ และได้ร่วมกันปราบปรามฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ โดยเข้าปิดล้อม จนนำไปสู่การเจรจาและฝ่ายผู้ก่อการยอมมอบตัวและขอให้ผู้นำการปฏิบัติการครั้งนี้ลี้ภัยไปยังต่างประเทศ แต่เอาเข้าจริงแล้ว พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ผู้นำการก่อการถูกจับและถูกดำเนินคดี ด้วยการถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 ในวันที่ 21 เมษายน ปีเดียวกันนั้น นับเป็นกบฏคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตตราบจนบัดนี้
โดยในเหตุการณ์ครั้งนี้ พล.ต.อรุณ ทวาทศิน ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ถูกยิงเสียชีวิตด้วยจาก พล.อ.ฉลาด เมื่อเป็นผู้พยายามเข้าไปแย่งปืนจาก พล.อ.ฉลาด ระหว่างที่ถูกควบคุมตัว ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความพยายามในการรัฐประหารครั้งนี้ล้มเหลว เนื่องจากขาดกำลังสนับสนุนจากทหารในกองพลที่ 1 ซึ่งเป็นทหารที่คุมกำลังในกรุงเทพฯ อันเป็นเมืองหลวง
อย่างไรก็ตาม ในที่สุด พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ก็ได้เข้าไปทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากนายธานินทร์ กรัยวิเชียรได้สำเร็จในอีก 208 วันต่อมา